ข้อบังคับ
สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
พุทธศักราช 2557
 

หมวด 1
ข้อความทั่วไปและวัตถุประสงค์

ข้อ 1 . สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ”   โดยใช้ชื่อย่อว่า “ส.มนก.” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ North Bangkok University Alumni Association ” ใช้ภาษาย่อว่า “ NBUA”

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมเป็นตรารูปวงกลมภายในประกอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ 2 ช่อ ตรงกลางตราเครื่องหมายเป็นลูกโลกมีวงโคจรวิ่งรอบประสาน พร้อมคบเพลิง มีตัวอักษร  N และ B อยู่กลางหน้าหนังสือ ด้านบนของกรอบรูปวงกลมเป็นแถบชื่อภาษาไทย “ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ” และส่วนล่างเป็นแถบชื่อภาษาอังกฤษ “ North Bangkok  University Alumni Association ”

ข้อ 3. สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เลขที่ 6/999 ซอยพหลโยธิน 52 ถนนพหลโยธิน แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร 10220

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

4.1 ส่งเสริมความสามัคคีและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย
4.2 ส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าตลอดจนผดุงเกียรติของสมาชิกและเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณ ของมหาวิทยาลัย
4.3 ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิกและศิษย์ปัจจุบันในด้านต่าง ๆ
4.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และนันทนาการในด้านต่างๆของสมาชิก
4.5 ดำเนินงานให้สมาคมเป็นสมาคมที่ทรงเกียรติ มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์
4.6 ช่วยเหลือ คุ้มครอง ส่งเสริมสมาชิกให้ได้รับผลดีในการประกอบวิชาชีพตามระเบียบแบบแผนที่มีมาตรฐานและมีมารยาทอันดีงาม

หมวด 2
สมาชิก

ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ คณาจารย์และบุคคลากรของมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
5.2 สมาชิกสมทบ ได้แก่ ศิษย์ปัจจุบันหรือผู้ที่เคยเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา ศิษย์ปัจจุบันที่เป็นสมาชิกสมทบจะเปลี่ยนสถานะเป็นสมาชิกสามัญโดยอัตโนมัติเมื่อสำเร็จการศึกษา
5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่  ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณสนับสนุนกิจการของสมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมมีมติเห็นสมควรเชิญให้เป็นสมาชิก

ข้อ 6 สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษและการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

7.1 สมาชิกสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ 400 บาท รวมทั้งสิ้น 500 บาท
7.2 สมาชิกสมทบจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ 400 บาท รวมทั้งสิ้น 500 บาท
7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ 8 การเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ปฏิบัติดังนี้

8.1 ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคมพร้อมทั้งชำระ
ค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงสมาคม จึงถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกของสมาคม
8.2 ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคมพร้อมทั้งชำระ
ค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงสมาคม จึงถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกของสมาคม
8.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์  ให้คณะกรรมการเป็นผู้เสนอชื่อเชิญเป็นสมาชิก และได้รับความเห็นชอบจาก
คณะกรรมการบริหารสมาคมแล้วให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม

ข้อ 9 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
11.1 ตาย
11.2 ลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
11.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
11.4 คณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารสมาคมทั้งหมดให้ถอนชื่อออกจากทะเบียนเมื่อปรากฏว่าสมาชิกผู้นั้นมีความประพฤติอันเป็นที่น่ารังเกียจหรือ เป็นการเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือกิจการของสมาคมอย่างร้ายแรง

ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

12.1 สมาชิกมีสิทธิดังนี้
(1) สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมได้ในเวลาที่เป็นสมาชิก
(2) สมาชิกมีสิทธิที่จะร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมจัดขึ้น โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบที่วางไว้
(3) สมาชิกมีสิทธิเสนอความคิดเห็นใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม
(4) สมาชิกสามัญ มีสิทธิเข้าประชุมใหญ่ มีสิทธิออกคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการบริหารสมาคม
(5) สมาชิกสามัญ 1 คน มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ 1 คะแนนทุกครั้งที่มีการออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุม
(6) สมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
(7) สมาชิกมีสิทธิได้รับบริการของสมาคม ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด เช่นได้รับข่าวสารทั่วไปและวารสารของสมาคม เป็นต้น
12.2 สมาชิกมีหน้าที่ดังนี้
(1) ช่วยเหลือ ร่วมมือ และส่งเสริมกิจกรรมของสมาคมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
(2) ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมและ
(3) เข้าร่วมประชุม และร่วมงานที่สมาคมจัดขึ้น
(4) ติดต่อกับสมาคมอยู่เสมอ ด้วยตนเองหรือโดยเอกสาร และพร้อมให้ความร่วมมือและปฏิบัติงานตามที่สมาคมร้องขอหรือมอบหมาย
(5) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนสมาชิก
(6) ช่วยรักษาเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่ปรากฏ
(7) บำเพ็ญตนให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม ส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย ไม่ประพฤติในทางที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติของสมาคม

หมวด 3
การบริหารและการดำเนินงานของสมาคม

ข้อ 13 ให้คณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย 15 คน อย่างมากไม่เกิน 21 คน คณะกรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญที่ได้มาจากการเลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายกไม่เกิน 5 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
13.5 ปฏิคม   มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุม ต่างๆ ของสมาคม
13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคม จากสมาชิก
13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าเผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 สาราณียกร มีหน้าที่จัดทำวารสารหรือข่าวสารเกี่ยวกับสมาคมและสถาบันเพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่สมาชิก
13.9 นายทะเบียนพัสดุ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุและสินทรัพย์ของสมาคม ทำบัญชีทรัพย์สิน สำรวจทรัพย์สินประจำปี และกิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
13.10 ที่ปรึกษาสมาคม มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการบริหารสมาคม การทำกิจกรรม ตลอดจนให้คำแนะนำการดำเนินกิจการทั่วไปของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและนโยบายของสมาคมให้บรรลุวัตถุประสงค์และสัมฤทธิ์ผลแห่งสมาคม
13.11 กรรมการสมาคม มีหน้าที่ให้ความเห็นและร่วมรับผิดชอบการดำเนินงานของสมาคมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์อันเป็นประโยชน์ต่อสมาคม

ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ  15 ตำแหน่งกรรมการสมาคมถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่วางลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 16 คณะกรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่การออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
17.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีอำนาจรับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ
18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ

ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยสามเดือนครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สมารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวด 4
การประชุม

ข้อ 22  การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด

22.1 การประชุมใหญ่สามัญ
22.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23 คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ของทุก ๆ ปี

ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นโดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นโดยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญให้เลขาเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา สถานที่ให้ชัดเจน และระเบียบวาระการประชุมโดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5 เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี

ข้อ 27 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 28 การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกันกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท ( หนึ่งหมื่นบาท ) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท  ( ห้าหมื่นบาท ) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 33 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 5,000 บาท ( ห้าพันบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 34 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 35 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับร้องขอ

หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38 ข้อบังคับสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมีมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 39 การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล

ข้อ 41 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 42 เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญและสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป